ขอขอบคุณลูกค้า TES ที่ให้การสนับสนุนสินค้าของ Step และทำการรีวิวการติดตั้งสวิทช์ไร้สายใน Pantip.com ค่ะ ทางเราได้ติดต่อเพื่อขอลงเนื้อหาใน www.step1990.com เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว และทางคุณ nes ได้อนุญาตแล้ว มาดูตัวอย่างการติดตั้งได้เลยค่ะ
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ทุกท่าน นี่เป็นรีวิวการติดตั้งครั้งแรกของเรา หากมีการใช้ภาษาพลาดไปนิด ผิดไปหน่อย หรือข้อความอาจจะงง ๆ ก็ขออภัยล่วงหน้านะคะ ^^ ว่าแล้วก็ มาเริ่มกันเลยดีกว่า
เราซื้อสวิทช์รีโมทมาจะเอามาติดตั้งเอาไว้เปิดปิดไฟหลังบ้านค่ะ เพราะปกติสวิทช์ไฟหลังบ้านมันก็จะอยู่หลังบ้านนั่นแหละ ซึ่งเวลาจะเดินไปตอนมืด ๆ เราก็กลัวพวกมลงแมลง งู้เงี้ยวเขี้ยวขอ เราเลยอยากเปิดไฟจากข้างในบ้านก่อน แล้วจะได้เดินออกไปสว่าง ๆ โดยไม่ต้องเรียกช่างไฟมาตอกผนังใส่สวิทช์ แล้วเดินไฟใหม่ให้ปวดหัว
ซื้อมาตั้งไว้เกือบอาทิตย์ ก็ได้ฤกษ์ลงมือติดตั้งซักที (ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นสบายแล้วด้วย อิอิ)
แต่นนแต้นนน นี่เป็นหน้าตาของสวิทช์รีโมทที่ซื้อมาค่ะ
***ขอบคุณทุกท่านนะคะ
ติดตั้งเสร็จก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันค่ะ ปวดนิ้วปวดแขนเลยทีเดียว แต่ภูมิใจมากค่ะ
มาเพิ่มเติมเรื่องราคานะคะ เราลืมใส่ ค่าเสียหายของอุปกรณ์หลัก ๆ ที่เราซื้อมาเพื่องานนี้ มีดังนี้นะคะ
– รีโมทสวิทช์ กล่องละ 880 บาท
– กล่องไฟ (สีขาวที่เอาไว้ใส่รีโมทสวิทช์) กล่องละ 23 บาท
– คีมตัดท่อ 289 บาท
ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ มีติดบ้านอยู่แล้วค่ะ
แกะออกมาในแต่ละกล่องจะมีอุปกรณ์ตามนี้ค่ะ คู่มือ ตัวรับ แล้วก็รีโมท
ขออธิบายนิดว่าตัวรับอันนี้ต่อกับวงจรได้ 4 วงจรค่ะ โดยแต่ละวงจรจะมีพิกัดตามที่ระบุในคู่มือ สำหรับ 1 วงจรคุม Inductive Load อย่างหลอดฟลูออเรสเซนส์ ได้มากสุด 250watt แต่ 4 วงจรรวมกันห้ามเกิน 400watt
ส่วนของเราจะ นำมาต่อกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ 40watt 1วงจร และ 20watt อีก 1 วงจร รวมกัน 60watt ก็ยังอยู่ในลิมิต ^^/
ส่วนการควบคุมของรีโมท ก็ตามเบอร์เลยค่ะ ปุ่มเบอร์ 1 คุม Load1, ปุ่มเบอร์ 2 คุม Load2, ปุ่มเบอร์ 3 คุม Load3 และ ปุ่มเบอร์ 4 คุม Load4 มี Master On/Off เอาไว้คุมทุกวงจรพร้อมกัน
ในแต่ละกล่องจะให้รีโมทกับตัวรับมาอย่างละ 1 แต่ข้อดีของรีโมทสวิทช์มันเจ๋งตรงที่ รีโมทมันสามารถเอาไปจับคู่กับตัวรับตัวอื่น ๆ ได้อีกค่ะ เพราะฉะนั้น เราเลยซื้อมาสองเซต
การต่อวงจรเข้า terminal ตัวรับเป็นไปตามรูปข้างล่างนะคะ คือเราต้องต่อตัวรับหลังจากสวิทช์ฝาผนังค่ะ เพราะเราใช้สวิทช์ฝาผนังในการจับคู่รีโมทกับตัวรับค่ะ
ทีนี้เราก็มาดูวงจรไฟที่เราจะติดตั้งเจ้าตัวสวิทช์รีโมทกันค่ะ จากในรูปนะคะ ไฟมี 4 ดวง คุมจากสวิทช์ 2 ปุ่ม(ที่อยู่ตรงกำแพง) ขอเรียกเป็นวงจรสีแดง และวงจรสีน้ำเงิน จุดห้าเหลี่ยมนั้นเราจะเอาไว้วางตัวรับค่ะ
จากวงจรดังกล่าว เราจะต่อวงจรดังนี้ค่ะ
1. ตัวรับตัวที่ 1 คุมวงจรสีแดง : Load1 (คุมหลอดสั้น) และ Load2 (คุมหลอดยาว) โดยตัวรับ load 3 และ 4 ปล่อยว่าง
2. ตัวรับตัวที่ 2 คุมวงจรสีน้ำเงิน : Load3 (คุมหลอดสั้น) และ Load4 (คุมหลอดยาว) โดยตัวรับ load 1 และ 2 ปล่อยว่าง
ถ้าเราใช้ Load1 และ Load2 ในตัวรับตัวที่สอง เวลาเรากดรีโมทปุ่ม 1 และปุ่ม 2 หลอดมันก็จะติดพร้อมกันค่ะ แต่เราอยากคุมแยกกันหมดแบบ 1 ปุ่ม/1 หลอด เราเลยต้องใช้ Load3 และ Load4 ในตัวรับตัวที่ 2 ค่ะ (นั่งคิดอยู่นานกว่าจะได้ solution นี้ออกมา )
จริง ๆ แล้ว เราซื้อสวิทช์รีโมทมา 1 เซตแล้วต่อสายไฟจากทั้ง 4 หลอดเข้าไปในตัวรับตัวเดียวก็ทำได้ค่ะ แต่เราคิดว่า การติดตั้งของเรามันจะง่ายขึ้นมาก หากเรามีตัวรับ 2 ตัว เพราะเรามีสวิทช์ผนังอยู่แล้ว 2 อันคุมแยกวงจร อีกอย่าง เราต้องการรีโมทสองตัว ติดในบ้านหนึ่งตัวและติดตรงหลังบ้านหนึ่งตัว เพราะฉะนั้น ซื้อมา 2 เซตนี่แหละดีแล้ว
(หวังว่าเพื่อน ๆ จะไม่งงนะคะ เราพยายามอธิบายอย่างดีที่สุดแล้ว )
*เพิ่มเติมจากคุณ nes เรื่องการเลือกการประยุกต์ใช้ตัวรับ 2 ตัวกับการเดินสายที่บ้าน
ตัวรับ 1 ต่อกับ load 1 และ 2
ตัวรับ 2 ต่อกับ load 3 และ 4
แต่คุณ nes ประยุกต์ function learning code รีโมทที่มากับตัวรับตัวที่ 1 (รีโมท 1) ซึ่งปกติก็จะควบคุมวงจร 1-4 ของตัวรับ 1 ได้อยู่แล้ว เอามาเรียนรู้กับตัวรับที่ 2 และใช้รีโมทที่มากับตัวรับที่ 2 (รีโมท 2) เรียนรู้กับตัวรับที่ 1 ด้วย เพื่อให้รีโมท 2 ตัวควบคุมการทำงานของโหลด 1 – 4 ของตัวรับทั้ง 2 ตัวได้เหมือนกันค่ะ
สมมติว่าคุณ nes กดปุ่ม 3 ของรีโมท 1 หรือรีโมท 2 หลอดไฟหมายเลข 3 ก็จะติดเหมือนกันเพราะรีโมทได้เรียนรู้กับตัวรับทั้ง 2 ตัวแล้ว ทำงานได้เหมือนกัน เมื่อดูหลักการทำงานของตัวรับแล้ว รีโมท 1 จะไปสั่งให้ให้วงจรที่ 3 ของทั้งตัวรับที่ 1 และตัวรับที่ 2 ติดพร้อมกัน แต่ว่าตัวรับที่ 1 ไม่ได้มีการเดินสายไฟต่อโหลด 3 เอาไว้ ถึงแม้จะกดรีโมทไปโหลด 3 ของตัวรับ 1 ที่ปล่อยว่างไว้ก็ไม่ได้มีการทำงานใดๆ ที่หลอดไฟ 3 ติดขึ้นมาได้ เพราะรีโมท 1 ได้สั่งให้ตัวรับที่ 2 ที่มีการต่อโหลด 3 เอาไว้ ทำงานนั่นเองค่ะ
นี่เป็นการประยุกต์ประเภทหนึ่งที่สามารถทำได้โดยใช้หลักการ learning code ฟังก์ชันของ Step Iseries ที่ไม่พบในสินค้าแบรนด์อื่นค่ะ 🙂
– – Step admin – –
หลังจากงมกับการวางผังวงจร เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว เรามาดูอุปกรณ์ที่ใช้กันบ้างดีกว่า โดยเราต้องเตรียมเครื่องมือตามรูปข้างล่างเลยค่ะ กล่องสีขาวนั่นเราเอาไว้ใส่ตัวรับ เนื่องจากวางไว้นอกบ้าน (แต่ยังอยู่ใต้หลังคา) ก็เลยใส่ปิดเอาไว้กันชื้นซักหน่อย ทางขวามือสุดนั่น เป็นคีมตัดท่อ เอาไว้ตัดท่อร้อยสายไฟสีเหลือง ๆ
***อย่าลืมบันไดด้วยนะคะ
เปิดฝากล่องไฟออกมา แท่แด้นนนน พบกับสายไฟยั้วเยี้ยเลย มาค่อย ๆ ไล่กันนะคะ สายไฟจากสวิทช์ทั้งสีแดงและสีขาว มันออกมาจากรูตรงกำแพงหลังกล่องไฟ (Line และ Neutral) แล้วสายสีแดง ก็เข้าไปที่บัลลาตส์ทั้งสองตัว (คือตัวที่เห็นในรูป และร้อยผ่านท่อเหลืองไปโผล่อีกหลอดหนึ่ง) ซึ่งตามในรูปนะคะเราจะลากสายไฟแต่ละเส้นนั้นเข้าไปที่กล่องตัวรับค่ะ
เราน๊อครูบนกล่องไฟสองตำแหน่งค่ะ บนกับล่าง (ขั้นตอนการน๊อครูทำนานมาก TuT เพราะฉะนั้นเลือกกล่องไฟดี ๆ นะคะจะได้น๊อคง่าย ๆ ) อันบนก็เสียบท่อสายไฟเข้าไป (ตัดท่อให้พอดีกับการวางกล่องไฟด้วยนะคะ) ส่วนรูล่างเราวางติดกับรางหลอดไฟเลยค่ะ อย่าลืมร้อยสายไฟเข้าท่อและเข้าไปในกล่องให้เรียบร้อยนะคะ
หลังจากที่แกะสายทั้งหมดออก เราก็จะต่อสายตามรูปด้านล่างค่ะ (วาดภาพในหัวเอาไว้ก่อน)
– สีแดงเส้นยาวคือ Line
– สีแดงเส้นสั้นคือสายไฟเข้าบัลลาตส์ของหลอดฟลูออเรสเซ้นส์อีกจุดหนึ่ง ซึ่งเราต่อมันออกมาจาก terminal Load4 ของตัวรับ
– สีเทาคือสายไฟเข้าบัลลาตส์ของหลอดฟลูออเรสเซ้นส์ที่อยู่ในรูป ซึ่งเราต่อมันออกมาจาก terminal Load3 ของตัวรับ
– สีขาวทั้งหมดคือ Neutral เรามัดรวมกันแล้วอย่าลืมต่อเข้าไปที่ terminal N ของตัวรับด้วยค่ะ
มาดูรูปเข้าสายกันชัด ๆ ค่ะ
ใส่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เย่ ( เจ็บนิ้วเหลือเกินนน)
เช็คดี ๆ นะคะให้สายไฟเข้าไปสุด terminal ปอกสายไฟให้พอดี (ประมาณ 0.7 เซนติเมตรสำหรับใส่เข้าไปใน terminal ตัวรับ) แล้วต่อสายไฟส่วนไหนก็พันด้วยเทปพันสายไฟให้เรียบร้อย จัดเรียงสายไฟให้เป็นระเบียบ เราเอาไฟสาย Line/Load ไว้เหนือบัลลาตส์ แล้ว Neutral ไว้ใต้ หลีกเลี่ยงไม่ให้โดนบัลลาตส์เพราะมันค่อนข้างร้อนค่ะ
เสร็จแล้วก็ปิดกล่องให้เรียบร้อย ปกปิดร่องรอยการเลื้อยไปมาของสายไฟ ฮ่าๆ ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการติดตั้งของวงจรสีน้ำเงินค่ะ นำรีโมทมาลองทดสอบดู ก็ใช้ได้ปกติค่ะ (แอบลุ้นอยู่ว่าจะระเบิดหรือเปล่า เผื่อต่อสายไฟผิด )
สำหรับวงจรสีแดงก็ทำแบบเดียวกันค่ะ
แล้วเราก็นำรีโมททั้งสองอันมาจับคู่กับตัวรับทั้งสองตัว คือจริง ๆ แล้วรีโมทและตัวรับที่อยู่ในเซตเดียวกัน มันจะจับคู่กันมาให้อยู่แล้วค่ะ เราแค่นำมันมาจับคู่เพิ่ม
– จับคู่รีโมทเซต 1 กับตัวรับเซต 2 (ต่ออยู่กับวงจรสีน้ำเงิน)
– จับคู่รีโมทเซต 2 กับตัวรับเซต (ต่ออยู่กับวงจรสีแดง)
โดยการจับคู่ก็ไม่ยากค่ะ ให้เราเปิดสวิทช์ที่ผนังที่มันต่ออยู่กับตัวรับที่เราต้องการจะจับคู่ แล้วรีบกดปุ่ม 1 บนรีโมทค้างเอาไว้ จนกระทั่งไฟของวงจรที่ 1 ติด ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
เมื่อทำเสร็จแล้ว ความสนุกมันอยู่ตรงนี้ค่ะ เราลองนำรีโมทมาคุมทั้งสองวงจร (กดเล่นเป็นเกมส์กดเลย) โดยการควบคุมก็ตามลูกศรชี้ในรูปเลยค่ะ
วงจรสีแดงคุมแยกหลอดจากปุ่มเบอร์ 1 และ 2 วงจรสีน้ำเงินคุมจากปุ่มเบอร์ 3 และ 4 (โดยสวิทช์ของทั้งสองวงจรที่อยู่บนกำแพงต้องเปิดอยู่ตลอดนะคะ) สิ้นสุดกระบวนการติดตั้งค่ะ ออกจะซับซ้อนนิดหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ทำเราพอใจมาก เพราะแก้ปัญหาข้างต้นของเราอย่างสวยงามค่ะ
1 Comment
เป็นตัวอย่างการติดตั้งที่น่าสนใจมากครับ ขอบคุณการรีวิวครับ 🙂